ในวันหนึ่งๆ ร่างกายของคนเราจะมีการไหลเวียนของพลังงานผ่านไปยังอวัยวะต่างๆ ซึ่งมีความสัมพันธ์กับเวลา หรือที่เรียกว่า “นาฬิกาชีวิต” โดยร่างกายจะมีกลไกปรับตัวและหลั่งฮอร์โมนเพื่อให้การทำงานของระบบต่างๆ เป็นไปตามเวลาที่ดวงอาทิตย์ขึ้นและตก ดังนั้น การนอนดึกตื่นสายจนไม่ได้สัมผัสกับแสงแดดในยามเช้า จึงเป็นเหตุทำให้นาฬิกาชีวิตรวน และส่งผลต่อการผลิตฮอร์โมนบางชนิดที่สมองจำเป็นต้องใช้แสงแดดเป็นตัวกระตุ้นไปด้วย
“ภาวะนาฬิกานอนเคลื่อนที่” โดยมากจะเกิดกับคนที่นอนไม่เป็นเวลา จึงส่งผลให้เวลาที่ตั้งใจจะนอนกลับไม่นอน และเมื่อถึงเวลาที่จะต้องตื่นจึงตื่นยาก ซึ่งนอกจากจะทำให้ไปเรียนหรือไปทำงานสายแล้ว การนอนดึกตื่นสายยังเป็นการกระตุ้นให้สมองผลิตฮอร์โมนเมลาโทนิน (Melatonin) มากขึ้น ซึ่งโดยปกติแล้ว ฮอร์โมนชนิดนี้จะหลั่งออกมาเฉพาะในเวลากลางคืนเพื่อทำหน้าที่ควบคุมให้ร่างกายนอนหลับ และจะหยุดหลั่งเมื่อร่างกายได้รับแสงแดดยามเช้า ดังนั้น หากเราไม่ตื่นมารับแสงแดด กระบวนการหลั่งฮอร์โมนเมลาโทนินก็จะเสียสมดุลไปด้วย เมื่อการนอนหลับเสียศูนย์จึงทำให้เรารู้สึกไม่สดชื่น เฉื่อยชา ปวดศีรษะ คิดอะไรไม่ออก และเกิดปัญหาความจำแย่ลงตามมาในที่สุด